ประวัติวัด





1 ความคิดเห็น:

  1. ประวัติวัดบางกอบัว
    วัดบางกอบัว สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2274 ประมาณยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวมอญชื่อ “มะทอ” และภรรยาชื่อ “ ประทุม ” สองสามีภรรยาได้สร้างขึ้นและขนานนามว่า “วัดบางกะบัว” ต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้ต้องตามตำบลจึงเรียกกันว่า “วัดบางกอบัว” มาจนถึงทุกวันนี้
    วัดบางกอบัวจึงได้ชื่อว่าเป็นวัดมอญเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง เพราะที่วัดนี้เคยมีเสาหงส์ธงตะขาบตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลาโรงครัวหลังเก่า ซึ่งอยู่ด้านข้างของเจดีย์มอญองค์ใหญ่หน้าศาลาการเปรียญในปัจจุบัน แต่ร่องรอยของเสาหงส์ธงตะขาบในปัจจุบันไม่เหลือให้เห็นร่องรอย เพียงแต่คงบอกตำแหน่งที่ตั้งได้ เพราะชาวบางกอบัวส่วนใหญ่ไม่ได้สืบทอดประเพณีของชาวมอญไว้และไม่ทราบว่าต้นตระกูลของใครเป็นชาวมอญบ้างและที่ดินที่สร้างวัดก็ไม่ทราบว่าเป็นของใครมาก่อน ในส่วนที่ทราบคือบริเวณอนามัยและองค์การบริหารส่วนตำบลบางกอบัว ที่คุณย่าทองหล่อ ใยลออ ได้บริจาคที่ดินให้วัดในส่วนนี้เท่านั้น วัดนี้ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์” วัดราชบพิธราชวรวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เคยเสด็จมาประทับแรมที่วัดบางกอบัว ณ กุฏิตำหนักอยู่บริเวณหน้าหอสวดมนต์เป็นกุฏิทรงไทยโบราณคู่ ปัจจุบันได้รื้อออกแล้วเพราะชำรุดผุพัง
    วัดบางกอบัวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ.2333 (อ้างอิงจาก หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ หน้าที่ 76 เลขทะเบียนหนังสือ น 276 10343 เลขหมู่ 294.3135 ก 521 ป ล.2 ฉ.4 และได้จากการสอบถามพระครูโกมุทสมุทรคุณ(ฝอยทอง เขมปญโญ) เจ้าอาวาสวัดบางกอบัว และพระณรงค์ โรจนสังวรณ์ (ฉายาจารุวณฺโณ หรือพระปุ๋ย) ท่านได้เล่าให้ฟังว่า สมภารจีน อุปโก เจ้าอาวาสวัดทอง ตั้งอยู่ในคลองพระโขนง เป็นผู้เขียนประวัติวัดไว้ ท่านสมภารจีน อุปโก ท่านนี้ ท่านมีความรู้ถึง 5 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษามอญ อังกฤษ ฝรั่งเศส ลาติน สันสกฤต หนังสือที่ท่านเขียนไว้เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ พระณรงค์ท่านได้เล่าว่าหนังสือเล่มนี้ได้สูญหายไปตอนท่านย้ายกุฏิประมาณปี พ.ศ.2542
    วัดบางกอบัว ตั้งอยู่เลขที่ 4 หมู่ที่ 3 ถนนเพชรหึงษ์ ตำบลบางกอบัว อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 12 ไร่ 15 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว 1 เส้น 15 วา ติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศใต้ยาว 1 เส้น 5 วา ติดต่อกับลำกระโดง ทิศตะวันออกยาว 8 เส้น 5 วา ติดต่อกับลำคลอง ทิศตะวันออกยาว 7 เส้น 5 วา ติดต่อกับลำกระโดง

    ตอบลบ